ฟังดูก็รู้ใจ...กับ 6 คำถาม 4 คำตอบ บ่งบอก ‘รสชาติ’ เพลงของคนแต่ละวัย
11 March 2018 เปิดอ่าน 6089 ครั้ง
ฟังดูก็รู้ใจ...กับ 6 คำถาม 4 คำตอบ บ่งบอก ‘รสชาติ’ เพลงของคนแต่ละวัย
“ดนตรีเข้าถึงความรู้สึกเราได้ ในขณะที่คำพูดบางคำทำไม่ได้”
- ใครสักคนไม่ได้กล่าวเอาไว้ -
แบบว่าชอบมาก ฟังกี่ทีก็บาดใจ ฟังเมื่อไหร่ก็นึกถึงวันนั้น…เมื่อบทเพลงกลายเป็นตัวขับเคลื่อนบางอย่างที่เติบโตมาพร้อมกับตัวเรา แต่ ‘รสชาติ’ เพลงของแต่ละคนกลับต่างออกไปตามวันเวลา
ในวันหนึ่งขณะที่กำลังนั่งฟังเพลง ก็เผลอเอ่ยชมบทเพลงว่าเพราะจนต้องเผลอยิ้ม แต่กลับมีอีกเสียงคัดค้านมองว่าเป็นเสียงที่ไม่รื่นหู...และมีอีกวันที่มีรุ่นพี่มาชวนคุยถึงแนวเพลงที่เราไม่เคยฟังมาก่อน ซึ่งในความแฮปปี้ของเขาเรากลับมองว่ามันไม่ใช่
แล้วคนเดี๋ยวนี้เขาฟังเพลงอะไรกัน? คำถามนี้จึงเกิดขึ้นมาจากเหตุการณ์ธรรมดาที่เชื่อว่าคุณก็ต้องเคยเจอ
มาเปิดทุกจังหวะดนตรี กลางวงสนทนาของคน 4 วัย ที่ต่างทั้งนิสัย และไลฟ์สไตล์คุณรู้ไหมจากวันนั้นถึงวันนี้พวกเขาฟังเพลงแบบไหน?
[ Q : ตอนนี้ฟังเพลงอะไรกัน? ]
ยายวัย 71 : เพลงเดิมกับที่ฟังตอน 10 ขวบ ฟังแล้วมันชื่นใจจนถึงเดี๋ยวนี้
หญิงวัย 51 : ทุกเพลงที่ทำนองไม่หนัก ได้หมดนะทั้งไทย สากล เกาหลี
หนุ่มวัย 23 : ฟังแบบตามใจ ทุกเพลงทุกแนวถึงจะไม่เข้าใจความหมายก็เถอะ
สาววัย 17 : ตอนนี้ชอบฟังเพลงสากลเก่า ๆ มันเล่าประสบการณ์ ฟังแล้วมันอบอุ่น
[ Q : ยังจำเพลงที่ฟังตอนเด็กได้ไหม? ]
ยายวัย 71 : สมัยนี้เห็นเขาเรียกกันว่าเพลงลูกกรุงมั้ง เราฟังตามที่ที่บ้านเปิดจากวิทยุแหละ เพลงของคุณชรินทร์ นันทนาคร เพลงของคุณสุเทพ วงศ์กำแหง นานมากแล้วจำชื่อไม่ได้ (หัวเราะ)
หญิงวัย 51 : ฟังตามคุณพ่อคุณแม่เปิดเหมือนกัน สมัยนั้นรู้สึกจะเป็นเพลงของวง The Immpossible ฮิตนะช่วงนั้นเปิดตามวิทยุ ตอนเด็กไม่ได้เลือกฟังขนาดนั้น เพลงไหนดังก็ฟังตามกระแสกันไป
หนุ่มวัย 23 : จำได้ว่าเป็นเพลงที่แม่เปิดในรถ พวกเพลงสากลกับเพลงหมอลำ แล้วก็เพลงในโบสถ์ที่เป็นเวอร์ชั่นหมอลำด้วยนะ
สาววัย 17 : ประมาณ 9 ขวบได้ก็เริ่มฟังเพลงเกาหลี เพลงไทยดัง ๆ แหละ ฟังตามเพื่อนอีกที แล้วพอฟังบ่อย ๆ ก็กลายเป็นติดหูไปเลยบางเพลง อย่างเพลงของวงเกาหลี Super Junior ไรงี้
นั่นคือบทเพลงในความทรงจำที่พวกเขาทั้ง 4 นึกออก...น่าแปลกที่ไม่มีคำตอบอย่างเพลง ก.ไก่ หรือเพลงเป็ดอาบน้ำในคลองหลุดออกมาจากการสนทนาครั้งนี้เลย อนุมานว่าเพลงเหล่านี้ไม่ใช่เพลงที่ใจสั่งให้ชอบ แต่เป็นเพลงที่ถูกสั่งให้ร้องจนจำได้เสียมากกว่า
[ Q : มีไหมที่ ‘รสชาติ’ ของเพลงที่ฟังมันเปลี่ยนไป ]
ยายวัย 71 : เราฟังเหมือนเดิมมาตลอดนะ มีเพิ่มเป็นเพลงประกอบละครที่ฟังทีวี กับวิทยุ อย่างเรื่องหนึ่งในทรวง สุริยาที่รัก มันเพราะไปหมด ทั้งทำนอง จังหวะ คำร้อง ชัดทุกถ้อยคำ
หญิงวัย 51 : เมื่อก่อนฟังตามที่คนอื่นเปิดให้ฟังใช่ไหม แต่พอโตมาก็เลือกเองละ เลือกฟังเพลงจากเนื้อหา แล้วก็สไตล์ของเพลง เป็นพวกเพลง Pop เพลงที่ติดหู อย่างเพลงนิยามรัก ของนูโว ช่วงนั้นสาว ๆ กรี๊ดมาก
หนุ่มวัย 23 : อะไร Mass ฟังหมดเลย บอดี้แสลม โปเตโต้ แคลช กะลา ลาบานูน ฯลฯ พอช่วงประถมปลายก็เริ่มมาฟังเพลงของแสตมป์ แล้วชอบมาก
สาววัย 17 : จากเพลงไทย ก็หันมาฟังเพลงสากลมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าเพลงไทยมันมีแต่ความหมายเกี่ยวกับความรัก มันน่าเบื่อ อยากฟังเพลงที่มีความหมายอื่นบ้าง
[ Q : ช่วง ‘พีค’ ที่สุดในชีวิต ฟังเพลงอะไรกัน? ]
ยายวัย 71 : “เรียมเหลือทนแล้วนั่น...” (ร้องเพลง) ชอบเพลงขวัญของเรียม สมัยไทยทีวีช่อง4 ที่กำธรและนันทวันร้องคู่กัน เป็นความประทับใจครั้งแรกในการดูละคร จำได้ ร้องง่าย เพราะมาก
หญิงวัย 51 : มีจังหวะหนึ่งที่เราแบก 1 ชีวิตไว้ในท้อง 9 เดือน ช่วงนั้นเปิดฟังแต่เพลง Sleeping Shine - MLTR จนถึงขั้นที่คนรู้จักคนหนึ่งอัดเพลงนี้เพลงเดียวใส่เทปมาให้เราฟัง (หัวเราะ)
หนุ่มวัย 23 : เพลงสองหมื่น ของแสตมป์ ตอนนั้นรู้สึกไม่เหลือใคร แต่พอฟังแล้วดีขึ้น เหมือนได้ทบทวนตัวเองแบบเฮ้ย! คนเรามีชีวิตแค่สองหมื่นวัน จะปล่อยไปเฉย ๆ ทำไม ทำเพื่อตัวเองสิ
สาววัย 17 : เป็นช่วงที่รู้สึกเฟลที่สุดในชีวิต เราสอบชิงทุนไม่ติด(แต่เพื่อนติด) ช่วงนั้นฟังแต่เพลง Rain ของ Taeyon เพลงเกาหลีที่เศร้ามาก ๆ เพลงนึง ดิ่งสุดอะไรสุดถึงขั้นไม่อยากคุยกับใคร
[ Q : งั้นจากวันนั้นจนถึงตอนนี้ Taste การฟังเพลงเปลี่ยนไปขนาดไหน? ]
ยายวัย 71 : ถึงอายุจะปูนนี้แล้วแต่เราก็ยังชอบฟังเหมือนเดิมที่เราเคยฟัง มันไม่ได้มีความหมายหวือหวา เพลงที่พูดถึงความรักก็มีน้อยมาก ทุกเพลงเราร้องตามได้ แต่เพลงสมัยนี้ไม่ติดหูเลย เหมือนจังหวะกับเพลงมันไม่ไปด้วยกัน
หญิงวัย 51 : ก็เปลี่ยนไปไม่เยอะเท่าไหร่ ก็ยังชอบฟังเพลงเหมือนที่คนส่วนใหญ่นิยมกัน แต่ก็จะมองหาเพลงที่ความหมายดีมากขึ้น ไม่ฟังเพลงจังหวะหนัก ๆ เลย
หนุ่มวัย 23 : พอเราได้คุยกับคนอื่นเยอะขึ้น การฟังเพลงของเรามันก็โตขึ้น เมื่อก่อนเพลงอินดี้ไม่ฟังเลย แต่พอเพื่อนเปิดก็แบบ “เฮ้ย! เพราะดีนะ” ใจกว้างเรื่องเพลงไปเลย แต่รักเดียวใจเดียวกับแสตมป์นะ (หัวเราะ)
สาววัย 17 : เปลี่ยนไปเยอะมาก! ฟังเพลงฝรั่งมากขึ้น เพลงไทยน้อยลงจนแทบไม่ฟัง อย่างที่บอกแหละเพลงไทยมันโฟกัสที่เรื่องความรักซะเยอะ แต่เพลงสากลมันเล่าประสบการณ์ มันน่าสนใจ
[ Q : อยากรู้จังว่าแต่ละคนมีความทรงจำกับเพลงบ้างไหม? ]
ยายวัย 71 : ชอบเวลาที่ได้ร้องเพลงกับเพื่อน จำไม่ได้หรอกนะว่าเป็นเพลงอะไร แต่จำได้ว่าเคยร้องเพลงกับเพื่อนที่โรงเรียนเวลาอาจารย์ไม่อยู่ ร้องไปเต้นไป สนุกมากจริง ๆ
หญิงวัย 51 : ชีวิตเรียบมาตลอดเลย (หัวเราะ) เอาเป็นเพลงที่ชอบมาตลอดจนถึงตอนี้แทนได้ไหม? แบบมันเป็นเพลงที่พิเศษสำหรับเรา เพลงของวง Carpenters - Close To You ชอบแบบไม่มีเหตุผล ชอบทุกอย่างที่เป็นเพลงนี้
หนุ่มวัย 23 : มันเกิดขึ้นตอนเราหัดเล่นกีตาร์ครั้งแรก ฝึกแล้วเลิกบ่อยมาก มันเล่นไม่ได้สักที แล้วตอนนั้นได้ฟังเพลงของแสตมป์ อินมาก อินแบบว่าต้องเล่นเพลงของแสตมป์ให้ได้ และก็มันก็กลายเป็นเพลงแรกที่เราเล่นได้เลย
สาววัย 17 : ไม่มีเลย (หัวเราะ) ขอตอบเป็นเพลงที่ชอบที่สุดเหมือนกันได้ไหม เป็นเพลง Seoul ของวง Super Junior และ Girl Generation ร้องด้วยกัน คงเพราะชอบ 2 วงนี้อยู่แล้วพอได้ฟังแล้วแบบ มัน ‘ใช่’ เลย
เป็นช่วงการสนทนาที่เต็มไปด้วยร้อยยิ้มและเสียงหัวเราะ เมื่อนึกถึงเพลง...เหตุการณ์บางอย่างมันมักย้อนกลับมาชวนให้นึกถึงเสมอ มากกว่าฟังแล้วมัน(ส์) ก็มีเรื่องนี้แหละที่ ‘เสียงเพลง’ ทำได้ดีกว่าการพูดให้ฟัง
[ Q : สุดท้ายอยากรู้ว่า ‘เพลง’ มีความหมายกับทุกคนยังไง? ]
ยายวัย 71 : มันคือลม เราชื่นใจที่ได้สัมผัส สบายที่ได้ยิน มันพาเราไปสัมผัสบางสิ่งผ่านบทเพลงนั้น
หญิงวัย 51 : เพลงเป็นอาวุธผ่อนคลายความเครียดที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับเรา จริง ๆ นะ
หนุ่มวัย 23 : มันเหมือนกล่องเก็บความทรงจำ เวลาฟังครั้งแรกจะเกิดความรู้สึกบางอย่าง พอย้อนกลับมาฟังอีกครั้งเราก็จะนึกถึงความคุ้นเคยนั้น
สาววัย 17 : เพลงคือศิลปะอย่างหนึ่งเหมือนกันนะ ที่ถ่ายทอดอารมณ์ศิลปินออกมา แล้วสิ่งนั้นก็พุ่งเข้ามาที่ความรู้สึกเรา
ดนตรี และเสียงเพลง มักกลายเป็นตัวแทนบางอย่างในช่วงเวลาหนึ่งของจังหวะชีวิต...ถามคนอีก 100 ก็คงได้คำตอบที่ต่างจากการพูดคุยในครั้งนี้แน่นอน บางคนที่คิดว่าน่าจะฟังเพลงสไตล์นี้แต่คำตอบออกมากลับเป็นอีกอย่าง เด็กวัยรุ่นที่คิดว่าจะหนักไปที่เพลงกระแส กลับตอบไปที่เพลงสากลโบราณซะงั้น เรื่องบางเรื่องแค่มองก็ตอบแทนไม่ได้จริง ๆ
ไม่ใช่แค่คนฟังอย่างเรา ๆ ที่เปลี่ยน แต่ธุรกิจในวงการเพลงก็ต้องปรับตาม เพราะอินเทอร์เน็ตที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่แน่ว่าในอนาคตเพลงอาจจะเชื่อมโลกทั้งใบเข้าไว้ด้วยกันเลยก็เป็นได้
Written by Chayanis
ขอบคุณทั้ง 4 รสชาติ :
นางสุดา นนท์ธนารักษา
นางจิตสุภา จำปีรัตน์
นายสิบประภาส เอื้อพิทักษ์
นางสาวอรนิช โสมทัพมอญ